วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

VIDEO Dance




ลีลาศ บีกีน-วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี

ลีลาศ คือ.......


คำว่า ลีลาศหรือ เต้นรำมีความหมายเหมือนกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปีพุทธศักราช 2525 ได้ให้ ความหมายดังนี้
ลีลาศ  เป็นนามแปลว่า  ท่าทางอันงดงาม  การเยื้องกราย  เป็นกิริยาแปลว่า  เยื้องกรายเดิน   นวยนาด
เต้นรำ เป็นกิริยาแปลว่า  เคลื่อนที่ไปโดยมีระยะก้าว ให้เข้ากับจังหวะดนตรี  ซึ่งเรียกว่า ลีลาศ โดยปกติเต้นเป็นคู่ชายหญิง


คนไทยนิยมเรียกการลีลาศว่า  เต้นรำ ”  มานานแล้ว  คำว่าลีลาศตรงกับภาษาอังกฤษว่า  “Ballroom  Dancing”  หมายถึง  การเต้นรำของคู่ชายหญิงตามจังหวะดนตรีที่มีแบบอย่างและลวดลายการเต้นเฉพาะตัว  โดยมีระเบียบของการชุมนุม  ณ  สถานที่อันจัดไว้ในสังคม  ใช้ในงานราตรีสโมสรต่าง ๆ และมิใช่การแสดงเพื่อให้คนดู  นอกจากนี้  ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่มักจะได้ยินกันอยู่เสมอคือคำว่า  “Social  Dance”  ส่วนใหญ่มักจะนำมาใช้ในความหมายเดียวกันกับคำว่า  Ballroom  Dancing  แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาคำว่า  Social  Dance  หมายถึง  การเต้นรำทุกประเภทที่จัดขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนมาอยู่ร่วมกัน  และได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเต้นรำเป็นหมู่คณะ  เพื่อให้ได้ความสนุกสานเพลิดเพลิน  จึงกล่าวได้ว่า  Ballroom  Dancing  เป็นส่วนหนึ่งของ  Social  Dance 

ประโยชน์ในการเต้นลีลาศ


ลีลาศเป็นกิจกรรมการออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic Exercise)
ชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งศาสตราจารย์โจเซฟ คูล นายแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬากล่าวถึงผลของการลีลาศที่มีต่อร่างกายว่า

1. ทำให้มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ และมีสมรรถภาพทางกายดีขึ้น
2. ช่วยพัฒนาทักษะทางกลไก (Motor Skill) ให้ดียิ่งขึ้น
3. ทำให้มีบุคลิกภาพในด้านการเคลื่อนไหวที่ดูสง่างามยิ่งขึ้น
4. ช่วยผ่อยคลายความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ
5. ทำให้มีชีวิตยืนยาว และปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข
6. ส่งเสริมให้รู้จักการเข้าสังคม รู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดี 
ทำให้มีเพื่อนและสมาชิกเพิ่มขึ้น
7. ส่งเสริมให้มีความเชื่อมั่นในตนเองและกล้าแสดงออกในทางสร้างสรรค์ 
สิ่งที่ดีงาม
8. ส่งเสริมให้รู้จักการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
9. เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

ประวัติลีลาศของประเทศไทย

ไม่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัดว่าการลีลาศในประเทศไทยเกิดขึ้นในสมัยใด สันนิษฐานว่า ชาวต่างชาติได้นำมาเผยแพร่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จุลศักราช 1226 จากบันทึกของแหม่มแอนนา
ในสมัยรัชกาลที่ 5
ส่วนใหญ่มีแต่เจ้านายและขุนนาชั้นผู้ใหญ่ที่เต้นรำกันพอเป็น โดยเฉพาะเจ้านายที่ว่าการต่างประเทศได้มีการเชิญฑูตานุฑูต และแขกชาวต่างประเทศมาชุมนุมเต้นรำกันที่บ้าน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสราญรมย์ ให้เป็นศาลาว่าการกระทรวงการต่างประเทศ งานเต้นรำที่เคยจัดกันมาทุกปีก็ได้ย้ายมาจัดกันที่วังสราญรมย์
ในสมัยรัชกาลที่ 6
ทุกๆปีที่มีงามเฉลิมพระชนมพรรษานิยมจัดให้มีการเต้นรำขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประธาน ซึ่งมีเจ้านายและบรรดาฑูตานุฑูตทั้งหลายเข้าเฝ้า ส่วนแขกที่จะเข้าร่วมงานได้ต้องได้รับบัตรเชิญเท่านั้น จึงสามารถเข้าร่วมงานได้
ในสมัยรัชกาลที่ 7
การลีลาศได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีสถานที่ลีลาศเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น ห้อยเทียนเหลา เก้าชั้น คาเธ่ย์ และ โลลิต้า เป็นต้น
ในช่วงปี พ.ศ.2475-2476
มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเรียกสมาคมสมัครเล่นเต้นรำว่าสมาคม “ตำเล่น” ซึ่งฟังแล้วไม่ไพเราะหู ดังนั้นหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ จึงบัญญัติศัพท์คำว่า ลีลาศ ขึ้นแทนคำว่า เต้นรำ ต่อมาสมาคมสมัครเล่นเต้นรำก็สลายตัวไป แต่ยังคงมีการชุมนุมกันของครูลีลาศอยู่เสมอ โดยมีนายหยิบ ณ นคร เป็นผู้ประสานงาน
การลีลาศได้ซบเซาลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
จนกระทั่งสงครามสงบลงในเดือน กันยายน พ.ศ. 2488 วงการลีลาศของไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นใหม่ มีโรงเรียนสอนลีลาศเกิดขึ้นหลายแห่งโดยเฉพาะสาขาบอลรูมสมัยใหม่ (Modern Ballroom Branch ) ซึ่งอาจารย์ยอด บุรี ได้ไปศึกษามาจากประเทศอังกฤษและเป็นผู้นำมาเผยแพร่ ช่วยทำให้การลีลาศซึ่งศาสตราจารย์ศุภชัย วานิชวัฒนาเป็นผู้นำอยู่ก่อนแล้วเจริญขึ้นเป็นลำดับ
ในปี พ.ศ.2491
 มีบุคคลชั้นนำในการลีลาศซึ่งเคยเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันลีลาศสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อาทิ อุไร โทณวณิก กวี กรโกวิท จำลอง มาณยมณฑล ปัตตานะ เหมะสุจิ และ นายแพทย์ประสบ วรมิศร์ ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมลีลาศแห่งประเทศไทยขึ้น โดยสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ อนุญาตให้จัดตั้งได้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2491 มีหลวงประกอบนิติสาร เป็นนายกสมาคมคนแรก ปัจจุบันสมาคมลีลาศแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกของสภาการลีลาศนานาชาติด้วยประเทศหนึ่ง
ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี  มีการกำหนดหลักสูตรลีลาศขึ้นอย่างเป็นแบบแผนทำให้การลีลาศมรมาตรฐานยิ่งขึ้น ส่งผลให้การลีลาศในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและนิยมในวงการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนให้ความสนใจ ทำให้มีโรงเรียนหรือสถาบันเปิดสอนลีลาศขึ้นเกือบทุกจังหวัด
สำหรับในสถานศึกษาก็ได้มีการจัดวิชาลีลาศเข้าไว้ในหลักสูตรตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษาปัจจุบันลีลาศได้รับการรับรองให้เป็นกีฬาจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee = IOC) อย่างเป็นทางการมรการประชุมครั้งที่ 106 วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2540 ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สำหรับในประเทศไทยคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ในสมัยที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ ได้มีมติรับรองลีลาศเป็นการกีฬาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541

ประวัติลีลาศในต่างประเทศ


ในปี ค.ศ. 1588
พระชาวฝรั่งเศสชื่อ โตอิโน อาโบ (Thoinnot Arbeau: ค.ศ. 1519-1589) ได้พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการเต้นรำ ชื่อ ออเชโซกราฟี (Orchesographin) ในหนังสือได้บรรยายถึงการเต้นรำแบบต่างๆหลายแบบ ในนั้น บันทึกถึงการเต้นรำที่นิยมใช้กันในบ้านขุนนางต่างๆ

ในยุโรประหว่างศตวรรษที่ 16   งานเลี้ยงฉลองได้ถูกจัดขึ้นตามโอกาสต่างๆเช่น วันเกิด การแต่งงาน และการต้อนรับแขกที่มาเยือนในงานจะรวมพวกการเต้นรำ การประพันธ์ การดนตรี และการจัดฉากละครด้วย
ขุนนางผู้หนึ่งชื่อ  Lorenzo de Medlci  ได้จัดงานขึ้นที่คฤหาสน์ของตน โดยตกแต่งคฤหาสน์ด้วยสีสันต่างๆ และจัดให้มีการแข่งขันหลายๆอย่าง รวมทั้ง การเต้นรำสวมหน้ากาก (Mask Dance) ซึ่งต้องใช้จังหวะ ดนตรีประกอบการเต้น
 พระนางแคทเธอรีน เดอ เมดิซี (Catherine de Medicis ) พระราชินีในพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 เดิมเป็นชาวฟลอเรนซ์แห่งอิตาลี พระองค์ได้นำคณะเต้นรำของอิตาลีมาเผยแพร่ในพระราชวังของฝรั่งเศส และเป็นจุดเริ่มต้นของระบำบัลเล่ย์  พระองค์ได้จัดให้มีการแสดง บัลเล่ย์โดยพระองค์ทรงร่วมแสดงด้วย
ในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้ปรับปรุงและพัฒนาการบัลเล่ย์ใหม่ได้ตั้งโรงเรียนบัลเล่ย์ขึ้นแห่งแรก ชื่อ Academic Royale de Dance จนทำให้ประเทศฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของยุโรป พระองค์คลุกคลีกับวงการบัลเล่ย์มาไม่น้อย กว่า 200 ปี โดยพระองค์ทรงร่วมแสดงด้วย บทบาทที่พระองค์ทรงโปรดมากที่สุดคือ บทเทพอพอลโลของกรีก จนพระองค์ได้รับสมญา นามว่า พระราชาแห่งดวงอาทิตย์การบัลเล่ย์ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นี้ค่อนข้างจะสมบูรณ์มาก
การเต้นระบำบัลเลย์ในพระราชวังนี้เป็นพื้นฐานของการลีลาศ การเต้นรำในปี ค.ศ. 1700 ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด ได้แก่ Gavotte, Allemande และMinuet รูปแบบการเต้นจะประกอบด้วยการก้าวเดินหรือวิ่ง การร่อนถลา การขึ้นลงของลำตัว การโค้ง และถอน สายบัว ภายหลังได้แพร่ไปสู่ยุโรปและอเมริกา เป็นที่ชื่นชอบของ ยอร์ช วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกามาก   การเต้นรำใน อังกฤษซึ่งเป็นการเต้นรำพื้นเมืองและนิยมกันมากในยุโรป เรียกว่า Country Dance ภายหลังได้แพร่ไปสู่อาณานิคมตอนใต้ของอเมริกา
สมัยก่อน การแสดงบัลเลย์มักจะแสดงเรื่องที่เกี่ยวกับเทพเจ้า เทพธิดา แต่สมัยนี้มุ่งแสดงเกี่ยวกับชีวิตคนธรรมดาสามัญ เป็นเรื่องง่ายๆและ จินตนาการ   ในสมัยที่มีการปฏิวัติในฝรั่งเศส ( ค.ศ. 1789 ) ได้มีการกวาดล้างพวกกษัตริย์และพวกขุนนางไป เกิดความรู้สึกอย่างใหม่ คือ ความมีอิสรเสรีเท่าเทียมกัน เกิดการเต้นวอลซ์ ซึ่งรับมาจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเชื่อกันว่ามีรากฐานมาจากการเต้น Landler การเต้นวอลทซ์ได้แพร่หลายไปสู่ประเทศที่เจริญแล้วในยุโรปตะวันตก    เนื่องจากการเต้นวอลซ์อนุญาตให้ชายจับมือและเอว ของคู่เต้นรำได้   จึงถูกคณะพระคริสประณามว่าไม่เหมาะสมและไม่สุภาพเรียบร้อย 
ในช่วงปี ค.ศ. 1800-1900  การเต้นรำใหม่ๆที่เป็นที่ นิยมกันมากในยุโรปและอเมริกา จะเริ่มต้นจากคนธรรมดาสามัญโดยการเต้นรำพื้นเมือง พวกขุนนางเห็นเข้าก็นำไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับ ราชสำนัก เช่น การเต้น โพลก้า วอลซ์ ซึ่งกลายเป็นที่นิยมมากของคนชั้นกลางและชั้นสูง  ในอเมริการูปแบบใหม่ในการเต้นรำที่นิยมมาก ในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพและพวกที่ยากจน คน ผิวดำนิยมเต้น Tap-Danced หรือระบำย่ำเท้า โดยรวมเอาการเต้นรำพื้นเมืองในแอฟริกา การ เต้นแบบจิ๊ก  ( jig) ของชาวไอริส และการเต้นรำแบบคล๊อก (Clog) ของชาวอังกฤษเข้าด้วยกัน คนผิวดำมักจะเต้นไปตามถนนหนทาง  
ก่อนปี ค.ศ. 1870 การเต้นรำได้ขยายไปสู่เมืองต่างๆในอเมริกา ผู้หญิงที่ชอบร้องเพลงประสานเสียงจะเต้นระบำแคนแคน (Can-Can ) โดยใช้การเตะเท้าสูงๆ เพื่อเป็นสิ่งบันเทิงใจแก่พวกโคบาลที่อยู่ตามชายแดนอเมริกา ระบำแคน แคน
  จังหวะวอลซ์จากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 17 แต่มิได้     เผยแพร่ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1816 จังหวะวอลซ์ ได้ถูกนำมาเผยแพร่ต่อที่ประชุมโดยพระเจ้ายอร์ชที่ 4 แม้จะไม่สมบูรณ์นักในขณะนั้น แต่ก็จัดว่าจังหวะวอลซ์เป็นจังหวะแรกของการลีลาศแท้จริง เพราะคู่ลีลาศสามารถจับคู่เต้นรำได้
ในราวปี ค.ศ. 1840 การเต้นรำบางอย่างกลับมาเป็นที่นิยมอีก อาทิ โพลก้า จากโบฮิเมีย ซึ่งเป็นที่นิยมมากในเวียนนา ปารีส และลอนดอน จังหวะมาเซอก้า( Mazuka) จากโปแลนด์ก็เป็นที่นิยมมากในยุโรปตะวันตก
ในราวกลางศตวรรที่ 19 การเต้นรำใหม่ๆก็เกิดขึ้นอีกมาก อาทิ การเต้นมิลิตารี่ สก๊อตติช (Millitary Schottische) การเต้นเค็กวอล์ค (Cakewalk) ซึ่งเป็นการเต้นรำแบบหนึ่งของพวกนิโกรในอเมริกา การเต้นทูสเตป (Two-Step) การเต้นบอสตัน (Boston) และการเต้นเตอรกีทรอท (Turkey trot)
ในศตวรรษที่ 20 ค.ศ. 1910 จังหวะแทงโก้จากอาร์เจนตินา เริ่มเผยแพร่ที่ปารีส เป็นจังหวะที่แปลกและเต้นสวยงามมากในระหว่างปี ค.ศ. 1912-1914 Vemon และ lrene Castle ได้นำรูปแบบการเต้นรำแบบใหม่ๆ จากอังกฤษมาเผยแพร่ในอเมริกาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้แก่จังหวะฟอกซ์ทรอทและแทงโก้

มารยาท


มารยาทในการลีลาศ
1. ไม่ควรสูบบุหรี่หรือขบเคี้ยวของขณะลีลาศ
2. ต้องลีลาศไปตามทิศทางที่ถูกต้อง
3. ควรแต่งกายให้ถูกต้องตามกาละเทศะ
4. ให้ความสนใจคู่ลีลาศของตน
5. ไม่แสดงความเบื่อหน่ายคู่ลีลาศของตน
6. อย่าแสดงความสนใจคู่ลีลาศอื่น
7. หากมีความจำเป็นต้องพูดคุยกับผู้อื่นในขณะลีลาศ 
     ควรแนะนำคู่ลีลาศของตนให้รู้จักด้วย
8. ไม่ร้องเพลงคลอเสียงดนตรีขณะลีลาศ
9. ถ้าจะเปลี่ยนคู่ลีลาศ ควรพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย
10. ไม่สอนลวดลายใหม่ขณะที่ลีลาศอยู่บนฟลอร์
11. การลีลาศโดยไม่จับคู่ถือว่าไม่สุภาพ

 มารยาทในการลีลาศของสุภาพบุรุษ
1. ไม่ควรยืนข้างฟลอร์เฉยๆ
2. ไม่ตัดคู่ขอลีลาศกับสุภาพสตรีที่กำลังลีลาศอยู่ เมื่อยังมีสตรีอื่นไม่ได้ออกลีลาศ
3. ควรเดินนำหน้าเพื่อขอทาง โดยยื่นมืออีกข้างให้สุภาพสตรีจับถ้าฟลอร์แน่น
4. เมื่อจบเพลงควรเดินตามไปส่งให้ถึงที่นั่ง พร้อมกับกล่าวขอบคุณ
5. ไม่ควรนำลีลาศในลวดลายที่ยาก
6. ถ้าจะขอลีลาศกับสุภาพสตรีอื่น ต้องขออนุญาตคู่ลีลาศของเขาก่อน และ
ให้สุภาพสตรีพอใจที่จะลีลาศด้วย

 มารยาทในการลีลาศของสุภาพสตรี
1. พยายามเป็นผู้ตาม
2. รับการขอลีลาศจากสุภาพบุรุษเสมอ
3. กล่าวรับคำขอบคุณของสุภาพบุรุษอย่างสุภาพ
4. เมื่อปฏิเสธการลีลาศจากสุภาพบุรุษคนหนึ่งแล้ว 
     ไม่ควรออกลีลาศกับสุภาพบุรุษอื่นในจังหวะนั้น